ทักษะกระบวนการ 9 ขั้น สร้างสรรค์โครงงานเพื่อพัฒนาทักษะการคิด : หนึ่งนวัตกรรมประจำปี 2556 : โรงเรียนแม่ออนวิทยาลัย

 

ความเป็นมาและความสำคัญ

 

        จากผลของการปฏิรูปการศึกษาในระดับชาติที่ผ่านมา ล้มเหลวในเรื่องคุณภาพของการศึกษา ล้มเหลวในเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาล้มเหลวในเรื่องการจัดการทรัพยากรทางการศึกษาและล้มเหลวในเรื่องการวางแผนและการบริหารจัดการ เมื่อรับความรู้หรือวิธีการจัดระบบการศึกษา การจัดการเรียนรู้จากต่างประเทศมาก็นำมาใช้แบบไม่ได้มีการปรับให้เหมาะสมกับบริบทการเรียนรู้ในสภาพสังคมไทย สัมฤทธิผลที่ได้ออกมา คือ คุณภาพของการเรียนของนักเรียนต่ำลง คุณภาพของการสอนของครูต่ำลง คุณภาพของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอน หลักสูตร ความพร้อมตามเกณฑ์มาตรฐาน ที่จะต้องมีตามความจำเป็นต่ำสุด ต่ำลง คุณภาพของชุมชนของสถาบันการศึกษาต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาต่ำลง และผลโดยรวม ก็คือความสามารถในการแข่งขันของนักเรียนต่ำลง ยิ่งเมื่อเทียบกับนานาประเทศในระดับเดียวกันก็ต่ำกว่าหลายๆประเทศ         มีผลการสำรวจว่าความสุขของคนไทยคือการไม่ต้องคิด (Weiner,2008) คนไทยมีขีดความสามารถทางความคิดในการคิดเรื่องที่มีความซับซ้อนได้ไม่มากนัก จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่เกิดปัญหาและต้องหาทางออกจากปัญหานั้น   เรามักจะพบกับความตีบตันหรือพอได้ทางออกก็ดูจะกลายเป็นปัญหาในระยะถัดมา การขาดทักษะการคิดเป็นปัญหาที่ร้ายแรงอย่างยิ่งในสังคมไทย คนไทยไม่ได้ถูกฝึกให้คิดเป็น คนที่คิดไม่เป็น คิดไม่ถูกต้อง คิดแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความสามารถในการคิด ไม่รู้วิธีคิด     มีความคิดสะเปะสะปะ ไม่มีการจัดระเบียบทางความคิด ไม่รู้วิธีคิดในลักษณะต่าง ๆ  เช่น ไม่รู้ว่าการคิดวิเคราะห์ทำอย่างไร  ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ต้องคิดสร้างสรรค์ ไม่สันทัดในการคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นต้น นอกจากนี้การคิดเรื่องต่าง ๆ โดยขาดการเปรียบเทียบผลดี-ผลเสียอย่างรอบคอบทั้งในปัจจุบันและอนาคตก็มักจะส่งผลเสียหายร้ายแรงในระยะยาวการขาดทักษะการคิดของคนไทยจะสะท้อนจากพฤติกรรมดังนี้คือ ขาดความสามารถในการจับประเด็น  ขาดความสามารถในการคิดให้คมชัด ตีความข้อมูลที่ได้รับมาไม่ถูกต้องและทำให้เกิดข้อสรุปที่ผิดพลาดไม่สมเหตุสมผล 

การคิดและการสอนคิดเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการจัดการศึกษาเพื่อให้มีคุณภาพสูง ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้มีการศึกษาเรื่องของการพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพทุกด้าน  ทั้งด้านสติปัญญา คุณธรรมและความเป็นพลเมืองดีของประเทศโดยเน้นการฝึกการคิดและกระบวนการคิดการคิดจึงเป็นกระบวนการทางปัญญาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และมักจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไม่มีขอบเขตจำกัดการคิดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. การคิดอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย (Associative Thinking) เป็นการคิดแบบไม่ตั้งใจหรือมีจุดมุ่งหมายการคิด มีลักษณะคิดไปเรื่อย ๆ การคิดเช่นนี้มักไม่มีผลสรุป และไม่สามารถนำผลของการคิดไปใช้ประโยชน์

          2. การคิดอย่างมีจุดหมาย (Directed Thinking) เป็นการคิดเพื่อหาคำตอบ เพื่อแก้ปัญหา หรือนำไปสู่จุดมุ่งหมายหรือ      เป้าหมายโดยตรง สามารถนำผลของการคิดไปใช้ประโยชน์

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้กล่าวถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เน้นฝึกฝนทักษะสำคัญ คือ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ การประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา การจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็นทำเป็น ใฝ่เรียนใฝ่รู้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จึงเป็นภาระงานที่สำคัญยิ่ง และมีคุณค่าต่อความเป็นครูมืออาชีพในยุคของการปฏิรูปการเรียนรู้ การสอนเพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดการศึกษา      ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะความคิดอย่างมีจุดมุ่งหมายช่วยให้ผู้เรียนตัดสินใจหรือแก้ปัญหาได้ อย่างมีคุณภาพ และเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในยุคที่โลกกำลังเจริญก้าวหน้า สภาพสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เป็นสังคมแห่งการพัฒนาข่าวสารข้อมูล ความสามารถในการคิด ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกฝน ในสถานการณ์ที่เหมาะสม โดยเริ่มจากความสามารถพื้นฐานในการคิดที่เรียกว่า ทักษะการคิด แล้วเพิ่มความซับซ้อนขึ้นโดยการฝึกลักษณะการคิดและกระบวนการคิดตามลำดับ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมความสามารถทางการคิดที่หลากหลายคือ

วิธีที่ 1  ส่งเสริมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ให้ได้รับปัจจัยที่เอื้อต่ออวัยวะที่ใช้ในการคิดเช่น อาหาร น้ำ อากาศ ดนตรี ฯลฯ

วิธีที่ 2  จัดสภาพแวดล้อม (บุคคล) ที่ส่งเสริมการคิดของเด็กทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เช่นบรรยากาศที่เอื้อต่อการใช้คำถาม

วิธีที่  3  ใช้ชุดฝึกโดยเฉพาะ เช่นต้องการฝึกทักษะบางตัว ซึ่งเป็นการฝึกโดยตรงโดยไม่ผูกพันกับเนื้อหา (Content Free)หรือเกมฝึกคิดต่าง ๆ ส่วนใหญ่ชุดฝึกเหล่านี้ต้องซื้อเช่น ชุดฝึกของโดโบโนในเมืองไทยมีในวิทยานิพนธ์ที่ทำเกี่ยวกับ     แบบฝึกคิดหรือชุดฝึกสามารถนำไปปรับปรุงให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

วิธีที่  4  จัดสอนเป็นรายวิชาหรือเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชานิยมทำในระดับอุดมศึกษา เช่น Philosophy for Children สอนเด็กให้เป็นนักปราชญ์น้อย ทดลองในเมืองไทยแล้วได้ผลพอสมควร

วิธีที่  5  จัดเป็นหลักสูตรระยะสั้น เช่น หลักสูตร 3 วันหรือ 5 วัน

วิธีที่  6  บูรณาการทักษะการคิดเข้าไปในการสอนเนื้อหารายวิชาต่าง ๆ

วิธีที่  7  ใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่นักวิชาการคิดขึ้น โดยมีทฤษฎีหรือหลักการเกี่ยวกับการคิดรองรับ มีกระบวนการในการดำเนินการสอน แล้วได้ผลตามวัตถุประสงค์ เช่นรูปแบบการเรียนการสอนที่ใช้ในการอุปมาอุปไมยเป็นหลัก หลังใช้รูปแบบการสอน เรียงความของผู้เรียนมีลักษณะการเขียนแตกต่างไปจากเรียงความเรื่องเดิมที่เขียนก่อนใช้รูปแบบการสอน

วิธีที่  8  ใช้เทคนิคที่ส่งเสริมการคิดเช่นเทคนิคการใช้คำถาม

 โรงเรียนแม่ออนวิทยาลัยยังคงมีการจัดการเรียนรู้ในลักษณะของการถ่ายข้อมูลเพื่อให้จำคือการเรียนแบบท่องจำมากกว่าการสอนให้คิด จึงส่งผลให้ผู้เรียนไม่เคยได้รับการฝึกฝน “วิธีคิด”เช่น   ไม่รู้จักตั้งคำถาม ไม่คิดสงสัย  ไม่กล้าคิดแตกต่าง เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับการยอมรับกลัวถูกดูหมิ่นความคิด  ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้เพราะการทดสอบความรู้ที่เรียนมามักจะเป็นลักษณะปรนัยมากกว่าอัตนัย ทำให้ผู้เรียนไม่ถูกกำหนดให้เกิดความคิดที่คมชัดผ่านการเขียน ขาดกระบวนการบริหารความคิด ไม่มีกระบวนการคิดที่ชัดเจนเป็นระบบหรือคิดอย่างรอบคอบ ผู้เรียนทำงานตามคำสั่งของผู้สอน  ใช้ทักษะการฟังและท่องจำ  ตอบคำถามที่ผู้สอนเป็นผู้กำหนดปัญหามาให้และการทดสอบเนื้อหาที่อ่านจากตำราและต้องพึ่งพาผู้สอนในแบบเดิม ๆ  ส่งผลให้      ผลการทดสอบระดับชาติ (O-Net) ประจำปีการศึกษา 2553  นักเรียนโรงเรียนแม่ออนวิทยาลัยส่วนใหญ่ ได้คะแนนเฉลี่ยในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้  ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับชาติ โดยในระดับชั้น ม.6 ซึ่งเป็นระดับชั้นสูงสุด ได้คะแนน(ค่าร้อยละระดับโรงเรียน/ระดับชาติ) ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับชาติ  สำหรับปีการศึกษา 2554  ที่ผ่านมา ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับชาติ  7 กลุ่มสาระการเรียนรู้  และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับชาติ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้  ในด้านทักษะการคิดจากผลการ  ประเมินภายในสถานศึกษา  ประจำปีการศึกษา 2553  ปรากฏว่า โดยภาพรวมผู้เรียนร้อยละ  83.16  มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์     มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ และคิดไตร่ตรอง ในระดับพอใช้  และร้อยละ 16.84  อยู่ในระดับปรับปรุง ส่วนในปีการศึกษา 2554  ปรากฏว่า โดยภาพรวมผู้เรียนร้อยละ  86.00  มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์  มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ และคิดไตร่ตรอง ในระดับพอใช้  และร้อยละ 14.00  อยู่ในระดับปรับปรุง แสดงให้เห็นว่า     นักเรียนมีความสามารถในการคิดอยู่ในระดับที่จะต้องได้รับการพัฒนา เมื่อเปรียบเทียบ 2 ปีการศึกษาพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทาง      การเรียนโดยภาพรวมยังไม่ดีขึ้น การพัฒนาทักษะการคิดเป็นการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถทางการเรียนของผู้เรียน เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น ดังนั้นการส่งเสริมความสามารถทางการคิดที่ควรนำมาประยุกต์ใช้      คือการใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่มีความเหมาะสม  จัดสภาพแวดล้อมให้ส่งเสริมการคิดทั้งที่บ้านและโรงเรียน  ใช้เทคนิคที่   ส่งเสริมการคิดและการใช้ชุดฝึกพัฒนาทักษะการคิดโดยเฉพาะ

การจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานเป็นรูปแบบวิธีสอนที่นำนักเรียนเข้าสู่การแก้ปัญหาที่ท้าทายและสร้างชิ้นงานสำเร็จได้ด้วยตนเอง โครงงานที่จะมาช่วยสร้างสภาวะการเรียนรู้ภายในชั้นเรียนจะเกิดขึ้นบนความท้าทายจากคำถามที่ไม่สามารถตอบได้จากการท่องจำ โครงงานจะสร้างบทบาทให้ผู้เรียนอย่างหลากหลายเป็นทั้งผู้ที่แก้ปัญหา คนที่ตัดสินใจ นักค้นคว้า นักวิจัย ซึ่งจะช่วยพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านความรู้และทักษะผ่านการทำงานที่มีการค้นคว้าและการใช้ความรู้ในชีวิตจริงโดยมีตัวผลงานและการแสดงออกถึงศักยภาพจากการเรียนรู้ การเรียนรู้ด้วยโครงงานจะถูกขับเคลื่อนโดยมีคำถามกำหนดกรอบการเรียนรู้ที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างมาตรฐานการเรียนรู้กับทักษะการคิดขั้นสูงเข้าสู่ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง   การเรียนรู้ด้วยโครงงานจะเป็นไปตามความสนใจของนักเรียน การออกแบบโครงงานที่ดีจะกระตุ้น ให้เกิดการค้นคว้าอย่างกระตือรือร้นและใช้ทักษะการคิดขั้นสูง (Thomas, 1998) ดังนั้นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ด้วยโครงงานจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

กระบวนการ 9 ขั้น สร้างสรรค์โครงงานเพื่อพัฒนาความสามารถทางการคิด มุ่งสอนให้เด็กได้รู้ถึงกระบวนเรียนรู้ว่าจะเรียนอย่างไร (How to learn) มากกว่าการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้โดยไม่ได้รับการพัฒนาการคิดหรือเรียนรู้ด้วยตนเอง  โรงเรียนแม่ออนวิทยาลัยจึงได้ประสานความร่วมมือในการ   จัดกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนพัฒนาการคิดอย่างเป็นระบบและคิดได้ตลอดแนว มีการจัดระเบียบความคิด ใช้เหตุและผลในการอ้างอิงแนวคิด สรุปความคิดจากเรื่องที่อ่าน ฟังและดู สื่อสารโดยการพูดหรือเขียนตามความคิดของตนเอง นำเสนอวิธีคิด วิธีแก้ปัญหาด้วยภาษาหรือวิธีการของตนเอง มีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ผลงานด้วยความภาคภูมิใจ กำหนดเป้าหมาย คาดการณ์และตัดสินใจแก้ปัญหาโดยมีเหตุผลประกอบ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของครูและบุคลากรภายในสถานศึกษาและการได้รับความร่วมมือจากชุมชนเพื่อสร้างให้เกิดชุมชนใฝ่รู้ (Community of Enquiry) ทั้งในระดับชั้นเรียน  ห้องเรียน  โรงเรียนและชุมชน โดยมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ในทิศทางเดียวกัน ใช้กลยุทธ์   การเรียน และเครื่องมือการพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนร่วมกันภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

         วัตถุประสงค์

1.  เพื่อพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถทางการคิด แก่นักเรียน ให้คิดเป็น  ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

๒.  เพื่อพัฒนาครูและบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาความสามารถทางการคิดแก่นักเรียน ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

๓.  เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถทางการคิดอย่างเป็นระบบ  คิดสร้างสรรค์  ตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างมีสติสมเหตุผล

 

<==กลับหน้าแรก  :  สภาพปัญหาก่อนการพัฒนา==>