ทักษะกระบวนการ 9 ขั้น สร้างสรรค์โครงงานเพื่อพัฒนาทักษะการคิด : หนึ่งนวัตกรรมประจำปี 2556 : โรงเรียนแม่ออนวิทยาลัย

 

นวัตกรรม ทักษะกระบวนการ 9 ขั้น สร้างสรรค์โครงงานเพื่อพัฒนาทักษะการคิด เป็นรูปแบบ การจัดการเรียน       การสอนที่ประยุกต์ใช้ทักษะกระบวนการ 9 ขั้น (กรมวิชาการ,2542) มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนโครงงานแก่นักเรียน เน้นการฝึกทักษะการคิดแก่นักเรียน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทย การดำเนินการ เริ่มจากการพัฒนาครูและบุคลากรของโรงเรียนให้มีความรู้ความสามารถในการดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนคิดสร้างสรรค์โครงงานเพื่อพัฒนาทักษะการคิด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และมีความภาคภูมิใจในตนเอง โดยครูผู้สอนจะต้องสามารถนำเสนอถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ควรเป็น และสิ่งที่เป็นอยู่ ชี้ให้เห็นถึงผลการปฏิบัติที่เกิดขึ้น   การซักถามให้ผู้เรียนรู้จักวิเคราะห์ความสำคัญ  การหาองค์ประกอบ การจัดหมวดหมู่และสรุปหลักการต่างๆ เมื่อครูและบุคลากรมีความพร้อม มีความรู้ความสามารถและทักษะอย่างหลากหลายเพียงพอแล้ว จึงเริ่มต้นพัฒนานักเรียนให้มีทักษะในการคิดสร้างสรรค์โครงงาน เพื่อพัฒนาทักษะการคิด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความภาคภูมิใจในตนเอง โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ทักษะกระบวนการ 9 ขั้น สร้างสรรค์ โครงงานเพื่อพัฒนาทักษะการคิด มีกระบวนการและกิจกรรม ดังนี้

          1. ฝึกค้นหาปัญหา  โดยแบ่งกลุ่มนักเรียนให้ร่วมกันอภิปรายประเด็นปัญหา เรื่องราวที่อยู่ในความสนใจแต่ละคนระบุประเด็นปัญหา เหตุผลและความท้าทายที่ต้องหาคำตอบ เปิดโอกาสให้เพื่อนในกลุ่มตั้งข้อสงสัยที่ควรหาคำตอบ เช่น ทำไมจึงต้องทำเรื่องนี้  มีวิธีการแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งต่าง ๆ อย่างไร  จะเกิดผลอะไรขึ้นหากทำการศึกษาค้นคว้า  โดยใช้      ใบกิจกรรมที่ 1 การฝึกค้นหาปัญหาและความจำเป็น

          2. นำมาวิเคราะห์ด้วยเหตุผล นักเรียนแต่ละกลุ่มรวบรวมปัญหาหรือเรื่องที่น่าสนใจจากการนำเสนอตามใบกิจกรรมที่ 1 ร่วมกันระบุองค์ประกอบย่อย ระบุความสำคัญของแต่ละองค์ประกอบในเรื่องที่ต้องการศึกษา จัดลำดับความสำคัญโดยใช้            ใบกิจกรรมที่ 2  แผนผังการวิเคราะห์ปัญหา

          3. ค้นหาทางเลือกอย่างหลากหลาย นักเรียนแต่ละกลุ่มระดมพลังสมองเพื่อค้นคว้าข้อมูลแนวคิดใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยน นำเสนอแนวคิด รับฟังความคิดเห็น ปรับเปลี่ยนความเชื่อตามข้อมูลที่มีเหตุผลที่ดีกว่าระบุทางเลือกที่มีความเป็นไปได้อย่างหลากหลายโดยใช้ใบกิจกรรมที่ 3 การค้นหาทางเลือก

          4. เลือกทางเลือกด้วยจุดหมายเดียวกัน นักเรียนแต่ละกลุ่มเปรียบเทียบผลดี ผลเสีย ความเป็นไปได้ของแต่ละทางเลือก ร่วมกันพิจารณา ตัดสินใจเลือกปัญหาที่มีข้อจำกัดน้อยและมีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จสูง โดยใช้ใบกิจกรรมที่ 4  การเลือกหัวข้อโครงงาน

          5. กำหนดขั้นตอนดำเนินการ นักเรียนแต่ละกลุ่มนำหัวข้อโครงงานที่เลือกมาประชุมวางแผนเพื่อกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายของงานโดยกำหนด วิธีการดำเนินการ ผู้รับผิดชอบ ปฏิทินปฏิบัติงานและการประเมินภาพความสำเร็จของงาน โดยใช้ใบกิจกรรมที่ 5 ขั้นตอนการดำเนินโครงงาน

          6. เริ่มปฏิบัติงานด้วยความมั่นใจ นักเรียนแต่ละกลุ่มลงมือทำตามขั้นตอนที่กำหนดและศึกษาค้นคว้าข้อมูลตามภาระงานที่ได้รับมอบหมาย  แลกเปลี่ยน เรียนรู้วิธีการแสวงหาข้อมูล การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ในการแสวงหาข้อมูล บันทึกผลการปฏิบัติงานประจำวัน  โดยใช้ใบกิจกรรมที่ 6  การปฏิบัติการจัดทำโครงงาน

          7. ให้ทุกฝ่ายร่วมประเมินผลการปฏิบัติ นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันจัดทำรายงานโครงงานจากการศึกษาค้นคว้า จัดนิทรรศการโครงงานเพื่อนำเสนอภายในกลุ่ม ให้เพื่อนต่างกลุ่มตรวจสอบผลงาน ให้คำแนะนำปรับแก้ไขรายงานและโครงงาน ครูที่ปรึกษา ผู้ปกครองและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันประเมินผลการปฏิบัติงาน สาเหตุที่ทำให้ไม่ได้ตามผลที่ต้องการในแต่ละขั้นตอน ระบุสิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไขโดยใช้ใบกิจกรรมที่ 7  การประเมินโครงงานระหว่างการดำเนินการ

          8. กำจัดจุดอ่อนที่เป็นปัญหา นักเรียนแต่ละกลุ่มอภิปรายถึงประเด็นที่ได้รับข้อเสนอแนะมาวางแผนร่วมกันเพื่อปรับปรุงแก้ไข  หาเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้เพื่อการนำเสนอผลงาน เพิ่มคุณภาพของงาน โดยใช้ใบกิจกรรม ที่ 8  การปรับปรุงโครงงาน

          9.  นำพาสู่ความภาคภูมิใจ นักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอโครงงาน ระบุสิ่งที่ทำได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ บอกผลดี คุณประโยชน์ ความสำคัญของสิ่งที่ทำได้สำเร็จจากโครงงานเพื่อรับการประเมินจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญภายนอกสถานศึกษา และ เผยแพร่ความรู้เพื่อการแลกเปลี่ยน เรียนรู้กับนักเรียนกลุ่มอื่น โดยใช้ใบกิจกรรมที่ 9 การนำเสนอผลงาน

          เมื่อนักเรียนได้ร่วมกิจกรรมครบทั้ง 9 กระบวนการข้างต้นแล้ว ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาทั้งทักษะกระบวนการคิด และทักษะการปฏิบัติ  รวมทั้งองค์ความรู้ที่ได้จากการทำโครงงานของตนเองและโครงงานของเพื่อนนักเรียนที่ได้นำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม ผู้เรียนมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำกิจกรรม กับเพื่อนนักเรียนตลอดเวลา โดยไม่รู้สึก  เบื่อหน่าย เต็มเปี่ยมด้วยความภาคภูมิใจในตนเอง อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความมั่นใจในตนเอง มีความสามารถทางการคิด มีความมั่นใจในการกระทำสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ กล้าคิด กล้าทำ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไปในอนาคต

 

<==กลับหน้าแรก  :  ความเป็นมาและความสำคัญ==>